
An exploration of live–work housing conditions of low-income older people in Bangkok, Thailand
ชื่อวารสารวิชาการ: Housing and Society
ผู้วิจัย: Karim Hadjri, Isaiah Durosaiye, Aliyu Abubakar
คณะนักวิจัย: ผศ.ดร.สรนาถ สินอุไรพันธ์, อ.สุธิดา สัตยากร, ผศ.ดร.สุปรียา หวังพัชรพล, ผศ.ดร.สายทิวา รามสูต
วันที่: 08/2567
คลองเตย (Klong Toey) เป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี 1939 โดยเริ่มจากแรงงานท่าเรือที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีประชากรกว่า 100,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพจากต่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน สภาพแวดล้อมของคลองเตยมีความท้าทายด้านที่อยู่อาศัยและความมั่นคงในชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุรายได้น้อยที่ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงทางที่อยู่อาศัยและรายได้
แนวคิด Live–Work Housing การรวมพื้นที่อยู่อาศัยกับพื้นที่ประกอบอาชีพหรือทำงานไว้ภายในที่เดียวกัน ตัวอย่างเช่น “shop house” ในมาเลเซีย “tube house” ในเวียดนาม หรือ “machiya” ในญี่ปุ่น แนวคิดนี้ในประเทศกำลังพัฒนามักเกิดขึ้นจากความจำเป็น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถหารายได้และมีที่อยู่อาศัยในเวลาเดียวกัน
ความสำคัญของที่อยู่อาศัยแบบอยู่และทำงานสำหรับผู้สูงอายุรายได้น้อย
- ในประเทศกำลังพัฒนา ราว 30% ของประชากรเมืองอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดหรือที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ
- ผู้สูงอายุรายได้น้อยมักประสบปัญหาทั้งด้านที่อยู่อาศัยและโอกาสในการหารายได้
- การมีที่อยู่อาศัยที่สามารถประกอบอาชีพได้ (home-based enterprise) ช่วยสร้างความมั่นคงทางรายได้และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถ “อยู่บ้านเดิม” (aging in place) ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
- ในบริบทคลองเตย การค้าขายหรือประกอบอาชีพขนาดเล็กในบ้านเป็นช่องทางสำคัญในการดำรงชีพของผู้สูงอายุ
สภาพปัญหาและข้อค้นพบจากการวิจัย
- ผู้สูงอายุในคลองเตยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพารายได้จากการค้าขายหรือบริการเล็ก ๆ ภายในบ้านหรือบริเวณใกล้เคียง
- สภาพบ้านเรือนโดยมากทรุดโทรม ขาดการลงทุนปรับปรุง เนื่องจากความไม่มั่นคงในกรรมสิทธิ์ที่ดินและความเสี่ยงจากการถูกไล่ที่
- การออกแบบบ้านไม่เอื้อต่อการประกอบอาชีพหรือรองรับความต้องการพิเศษของผู้สูงอายุ เช่น ทางเดินแคบ ไม่มีพื้นที่แยกสำหรับทำงาน หรือขาดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน
- โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เช่น “บ้านมั่นคง” แม้จะมีเป้าหมายสร้างความมั่นคง แต่ผู้สูงอายุบางส่วนยังไม่พึงพอใจต่อสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบอยู่และทำงานสำหรับผู้สูงอายุรายได้น้อย
จากการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคลองเตย พบว่าแนวทางสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบอยู่และทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุรายได้น้อย ควรคำนึงถึง 4 มิติหลัก ได้แก่
- พื้นที่ (Space): การออกแบบบ้านต้องมีพื้นที่ยืดหยุ่นสำหรับประกอบอาชีพและใช้ชีวิตประจำวัน
- การดำรงชีวิต (Livelihood): สนับสนุนกิจกรรมหารายได้ภายในบ้าน เช่น การค้าขาย งานฝีมือ หรือบริการเล็กๆ
- การสนับสนุน (Support): มีระบบช่วยเหลือจากชุมชน หน่วยงานรัฐ และองค์กรเอกชน เช่น เงินกู้ สวัสดิการ หรือการฝึกอบรมอาชีพ
- บริการ (Services): เข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า การแพทย์ และการขนส่ง